Magnetic Resonance Imaging (MRI) การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก

เอ็มอาร์ไอ หรือ แมกเนติก เรโซแนนซ์ อิมเมจิ้ง หรือ เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจดูอวัยวะภายในโดยไม่มีการใส่ส่วนของอุปกรณ์ใดๆเข้าไปในร่างกาย (noninvasive equipment) หลักการทำงานของเอ็มอาร์ไอจะอาศัยการทำปฏิกิริยาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่วิทยุ กับอนุภาคโปรตอนที่อยู่ในส่วนประกอบของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด ซึ่งปฏิกิริยานี้จะทำให้ได้สัญญาณภาพ (image signal) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นภาพของอวัยวะภายในโดยระบบคอมพิวเตอร์ แมกเนติก เรโซแนนซ์ อิมเมจิ้ง (MRI) เป็นเครื่องมือปลอดรังสีเอ็กซ์เพราะไม่ใช้รังสีเอ็กซ์ในการสร้างสัญญาณภาพของอวัยวะภายใน

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ

•    งดน้ำและอาหาร4 ชั่วโมงก่อนตรวจ ซึ่งขี้นอยู่กับชนิดของการตรวจ

•    เปลี่ยนเสื้อผ้ามาใส่เสื้อที่แผนกที่ตรวจเตรียมไว้ให้

•    ถอดฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง เครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะออกให้หมดและเก็บไว้ในที่เก็บของที่แผนกเตรียมไว้ให้

•    นำเหรียญสตางค์ บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม โทรศัพท์ ออกจากตัวให้หมด 

กรณีต้องห้ามสำหรับการตรวจ เอ็มอาร์ไอ หัวใจ คือ สตรีมีครรภ์ คนไข้ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ทำด้วยโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่นเครื่องกระตุ้น และเครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องปั๊มอินซูลิน และคนไข้ที่มีอาการกลัวที่แคบ ส่วนที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น คนไข้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียมบางชนิด เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท คนไข้ที่ใส่ขดลวดดามหลอดเลือด (stent)

ขั้นตอนการตรวจเอ็มอาร์ไอ

  • ผู้ป่วยจะได้รับการอธิบายขั้นตอนการตรวจก่อนการตรวจ
  • เมื่อผู้ป่วยตกลงใจที่จะทำการตรวจ ก็ให้ผู้ป่วยลงชื่อในใบเซ็นยินยอมเพื่อรับการตรวจ
  • ให้คนไข้นอนหงายบนเตียงตรวจ จัดท่าคนไข้ให้ถูกต้องตามมาตรฐานการตรวจ ติดแถบมัดตัวคนไข้เพื่อไม่ให้คนไข้เคลื่อนไหวออกจากตำแหน่ง

– ติดสายตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หน้าอกด้านซ้ายของคนไข้ ติดสายวัดการหายใจที่หน้าท้องของคนไข้และเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

-แจ้งให้คนไข้ทราบว่าระหว่างการตรวจ อาจขอให้คนไข้กลั้นหายใจหลายครั้งประมาณครั้งละ 15-20 วินาที คนไข้จะได้รับการฝีกการกลั้นหายใจก่อนการตรวจ

-ผู้ป่วยที่ทำการตรวจเอ็มอาร์ไอ ชนิดที่ต้องฉีดสารทึบรังสี และฉีดยาจะได้รับการเปิดเส้นเลือดดำสำหรับฉีดสารทึบรังสีและ/หรือยา

-ผู้ป่วยที่ทำการตรวจเอ็มอาร์ไอ ชนิดที่ต้องฉีดสารทึบรังสี จะได้รับการแจ้งให้เจาะเลือดตรวจหน้าที่ของไตก่อนพิจารณาฉีดสารทึบรังสี

การตรวจใช้เวลานานแค่ไหน

โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 45-90 นาที