6 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ


แม้โรคหัวใจ จะพบมากในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน บางคนอายุแค่ 30 – 35 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว ส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การไม่ดูแลสุขภาพที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ฉะนั้นการลด ละ เลี่ยง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวเองก็สามารถลดความเสี่ยง หรือป้องกันการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้

5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยเสี่ยงทางร่างกายที่สามารถป้องกันได้ คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ 2.พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ แต่การป้องกันโรคดีและสำคัญกว่าการรักษาโรค โดยห่างไกลได้ด้วยการเลี่ยง 5 พฤติกรรมเหล่านี้

1. การรับประทานอาหารไขมันสูง ไขมันทรานส์ – อาหารคอเลสเตอรอลสูง เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ทอด แกงกะทิมันๆ ต่างๆ และอาหารปิ้งย่าง เมื่อรับประทานอาหารประเภทนี้เข้าไปในปริมาณมาก และต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูงจนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน และเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

2. น้ำหนักเกิน (ภาวะอ้วน) – การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งมีค่า BMI มากกว่า 30 มีอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดจากการมีไขมันเกาะในหลอดเลือดมาก ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด กระทั่งหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิตอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ภาวการณ์อ้วนลงพุง โดยผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 45 นิ้ว ต้องระวังตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากรอบเอวที่ใหญ่เกินไป ส่งผลถึงสุขภาพหัวใจด้วย

3. ภาวะความเครียดมากเกินไป – ผู้ที่มีความเครียดมากๆ และเครียดอยู่เป็นประจำคือ กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น จนอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงมีไขมัน มีการอักเสบต่างๆ มาเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดได้

4. ขาดการออกกำลังกาย และพักผ่อนไม่เพียงพอ – หากหัวใจไม่เคยได้ออกกำลัง ก็จะทนต่อการทำงานหนักไม่ไหว เมื่อใดที่เราอยู่ในภาวะหัวใจต้องทำงานหนักแต่หัวใจรับไม่ไหว ก็จะทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นตัวช่วยให้หัวใจได้ออกกำลัง เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ พร้อมใช้งานหนักได้มากขึ้น

รวมทั้งผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

5. สูบบุหรี่ – หลายคนอาจจะคิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งที่ปอดเท่านั้น จริงๆ แล้วบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เนื่องจากควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ นิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การหมั่นออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ ลดอาหารไขมันสูง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เท่านี้คุณก็ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้แล้ว ทั้งนี้หากเพื่อความไม่ประมาทแม้จะอายุไม่มากแต่หากพบว่ามีอาการเหนื่อย หายใจติดขัด แน่น หรือเจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว มีเหงื่อออกมาก ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจทันที